ความมุ่งหมายของการพูด อาจารย์โช (เจ้าเก่า) นักพูด.com
เรื่องราวในหน้านนี้ ลุงโช ขออนุญาตนำเรื่อง ความมุ่งหมายของการพูด มาเกริ่นนำไว้สักหัวเรื่องนึงนะครับ
ความมุ่งหมายของการพูด คือ การแสดงหรือเสนอข้อคิดเห็นต่อผู้ฟัง และผู้ฟังสามารถรับรู้เรื่องราวและเข้าใจได้ตรงกับความต้องการของผู้พูด ตลอดจนสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรียกว่า
พูดได้อย่างใจนึก
ระลึกได้ดังใจหวัง
ยังประโยชน์ให้แก่ผู้ฟัง
สร้างพลังในการเปลี่ยนแปลง
ความมุ่งหมายของการพูด แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่
1) ความมุ่งหมายของการพูดโดยทั่วไป และ
2) ความมุ่งหมายเฉพาะ
- 1. ความมุ่งหมายโดยทั่วไป คือ การพูดที่พยายามให้ผู้ฟังสนใจ เข้าใจ และประทับใจจากการพูดนั้น ๆ
ความสนใจ จะเกิดได้เพราะผู้พูดได้เตรียมตัวเป็นอย่างดี กล่าวคือ สนใจที่จะรับฟังเพราะเตรียมพูดมาดี และสนใจที่จะรับฟังจนจบเรื่องเพราะเตรียมเนื้อหามาดี
ความเข้าใจ การเรียกร้องให้คนสนใจฟังเท่านั้นยังไม่เป็นการเพียงพอ จะต้องให้ผู้ฟังเข้าใจด้วย ซึ่งกระทำได้โดยการเตรียมเนื้อเรื่อง การใช้ถ้อยคำ การเรียบเรียงประโยคที่ง่ายต่อการเข้าใจ เป็นต้น
ความประทับใจ คือ ความเข้าใจที่ชัดเจน จนมองเห็นภาพ ซึ่งทำได้โดยการใช้คำคม ข้อความที่ลึกซึ้งกินใจ คำรุนแรงที่เหมาะสม ตลอดจนอุปมาอุปไมยต่าง ๆ เป็นต้น
ดังนั้น ในการพูดทุกครั้ง ผู้พูดจะต้องเตรียมตัวให้พร้อม ทั้งคำนำ เนื้อเรื่อง และสรุปจบให้สอดคล้องกัน เพื่อช่วยให้ประสบผลสำเร็จในการพูดทุก ๆ ครั้ง
- 2. ความมุ่งหมายเฉพาะ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ดังนี้
เพื่อให้ข่าวสารความรู้ เป็นการพูดแบบเสนอข้อเท็จจริง โดยไม่มุ่งหมายที่จะเปลี่ยนทัศนคติของผู้ฟัง แต่เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้ฟัง
เพื่อความบันเทิง เป็นการพูดเพื่อให้ผู้ฟังสนุกสนานครึกครื้น มักเป็นการพูดหลังอาหาร ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเป็นการพักผ่อน
เพื่อชักจูงใจ คือ การพูดที่มุ่งหวังให้ผู้ฟังเปลี่ยนใจเห็นคล้อยตามผู้พูด โดยใช้ การเร้าอารมณ์เป็นที่ตั้ง
องค์ประกอบของการพูด
องค์ประกอบของการพูดที่สมบูรณ์ ประกอบด้วย
- 1. ผู้พูด
- 2. เนื้อเรื่องที่จะพูด
- 3. ผู้ฟัง
- 4. เครื่องมือสื่อความหมาย
- 5. ความมุ่งหมายและผลในการพูดแต่ละครั้ง
แล้วเราค่อยๆมาต่อกันอีกในบทความหน้านะครับ